เผยรายชื่อ : ใครบ้างที่ต้องจ่ายเงินค่าสิทธิบัตรให้ Nokia
ถึงแม้ว่าปัจจุบัน Nokia จะไม่ใช่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ในตลาดแบบในอดีต แต่พวกเขาก็ยังเป็นผู้ถือครองสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีของโทรศัพท์มือถือที่มากที่สุดในโลกกว่า 30,000 ฉบับ ซึ่งมันถูกใช้งานบนสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาในยุคปัจจุบัน โดยสิทธิบัตรจำนวนมากสร้างรายได้มหาศาลให้โนเกียจนปัจจุบัน เรามาดูกันดีกว่าว่าในโลกของการดำเนินธุรกิจของโนเกีย...เราเป็นพันธมิตรคู่ค้ากับใครบ้างครับ
Apple
แน่นอนว่าแอปเปิ้ลบริษัทด้านไอทียักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็เข้ามาเป็นพันธมิตรกับโนเกียมานับสิบปี โดยเริ่มจากตัวระบบปฏิบัติการที่ต้องพึ่งพากระบวนการเข้ารหัสของโนเกียมาตั้งแต่ปี 2550 - 2551 จนกระทั่งมีข่าวว่าโนเกียเพิ่มฟ้องการละเมิดในตัว iPhone 3Gs หลายรายการในปี 2552 ซึ่งแอปเปิ้ลก็ไม่ยอมเช่นกันครับสั่งฟ้องกลับในปีเดียวกันว่าโนเกียก็ละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิ้ล
ในสำนวนที่แอปเปิ้ลส่งฟ้องยังมีการอ้างถึงคำพูดของ Anssi Vanjoki ผู้บริหารของแผนกมือถือโนเกียในงาน Nokia's GoPlay เมื่อปี 2550 ที่ให้สัมภาษณ์เรื่อง iPhone ว่า "ถ้ามีอะไรที่ดีอยู่ในโลกนี้ เราก็จะลอกเลียนมันด้วยความภูมิใจ" (If there is something good in the world, we copy with pride.) โดยแอปเปิลได้นำข้อความนี้มาใส่ในสำนวนเพื่ออ้างถึงความตั้งใจของโนเกียในการลอกเลียนแบบแอปเปิ้ลนั่นเอง
เท่านั้นยังไม่พอปีต่อมาเกิดกรณีที่ iPhone 4 สัญญาณหลุดหรืออ่อนลงขณะกำลังใช้งาน ทำให้ทางผู้บริหารอย่างคุณสตีฟ จ็อบส์ออกมาชี้แจงท่าทางในการจับไอโฟนโดยเขาให้พยายามหลีกเลี่ยงการจับที่บริเวณมุมล่างซ้ายลักษณะที่ครอบคลุมทั้งสองด้านของแถบสีดำตรงขอบอลูมิเนียม และคุณจ็อบส์ก็ได้สอนวิธีการจับ iPhone 4 ให้กับประธานาธิบดีดิมิทรี เมดเดเวฟ ด้วย ซึ่งไม้เบื่อไม้เมาอย่างโนเกียก็รีบออกมาตอบโต้ลงในบล็อกทางการ Nokia Conversations ถามผู้ใช้โนเกียว่า "คุณจับมือถือของคุณอย่างไร" พร้อมนำเสนอท่าจับมือถือ 4 ท่าซึ่งมีชื่อเรียกต่างกันไปและปิดท้ายแบบเจ็บๆว่าไม่ว่า จะจับท่าไหนมือถือของโนเกียไม่มีปัญหาสัญญาณหดหาย และฟีเจอร์สำคัญของมือถือโนเกียคือ "มันโทรออกได้" ดังนั้นเราถึงเรียกมันว่า "โทรศัพท์"
คุณจ็อบส์ สอนวิธีการถือ iPhone 4 ให้กับ ปธน.ดิมิทรี เมดเดเวฟ |
หลังจากนั้นไม่นาน Apple ยอมยุติศึกการต่อสู้เรื่องสิทธิบัตรกับ Nokia โดยที่ขอเช่าใช้สิทธิการใช้งานส่วนต่างๆรวมไปถึงสิทธิบัตรเกี่ยวกับหน้าตา User Interface, กล้องถ่ายภาพ, เสาอากาศและระบบ Power Management, เทคโนโลยี GSM, WCDMA, WiFi, การเข้ารหัสข้อมูล, และการเข้ารหัสเสียง, การใช้งาน 3G และ 4G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้มือถือนั้นโทรและเชื่อมต่อได้นั่นเอง
เรื่องก็ดูเหมือนจะยุติลงแต่ต่อมาในปี 2559 โนเกียเริ่มฟ้องแอปเปิ้ลอีกรอบฐานไม่ยอมจ่ายเงินเป็นเวลานานถึง 5 ปี ซึ่งเรื่องนี้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งเมื่อแอปเปิ้ลตอบโต้ด้วยการยุติการวางขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ Nokia - Withings บนสโตร์และฟ้องศาลในสหรัฐอเมริกากลับว่าโนเกียผูกขาดสิทธิบัตรมากเกินไปและกดราคาค่าใช้งานเท่าไรก็ได้
สุดท้ายของเรื่องนี้มาจบในวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 โดยแอปเปิ้ลยอมจ่ายเงินแต่ไม่ได้ระบุจำนวน และลงในเว็บข่าวประชาสัมพันธ์ว่าด้วยข้อตกลงทางธุรกิจ แต่ไม่รอดพ้นการตรวจสอบบัญชีบริษัทในการรายงานประจำไตรมาสของโนเกียที่พบว่า โนเกียได้รับเงินสดมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 64,000 ล้านบาทจาก Apple หลังจากที่ได้ลงนามข้อตกลงข้างต้น
(คลิ๊กที่นี่) อ่านข่าว : Nokia และ Apple ข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจในปี 2560
Samsung
ภาพโดย MXPhone |
โดยสองบริษัทเขามีระยะเวลาต่อสัญญาทุก 5 ปี ซึ่งข่าวการเช่าซื้อสิทธิบัตรปีล่าสุดที่มีการต่อสัญญา คือ 1 มกราคม 2561 นี่เองครับ ซึ่งในสัญญานี้ Samsung ยังคงต้องจ่ายเงินให้ Nokia ตลอดอายุสัญญาเช่นเคย
โดยรายละเอียดลงว่าคุณ Maria Varsellona ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ Nokia และประธาน Nokia Technologies ได้กล่าวว่า “Samsung เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟนและได้รับใบอนุญาตจาก Nokia มาเป็นเวลาหลายปี เรามีความยินดีอย่างมากที่เราบรรลุข้อตกลงและต่อสัญญา แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของสิทธิบัตรของเรา, ความเป็นผู้นำด้านงานวิจัย R&D และการออกใบอนุญาตสำหรับมาตรฐานโทรศัพท์มือถือ รวมถึงเครือข่าย 5G อีกด้วย”
โดยสำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า Nokia จะได้เงินจากค่าสิทธิบัตร 3 ยูโร หรือราวๆ 110 บาทต่อเครื่องที่ Samsung ขายสมาร์ทโฟนได้ครับ
Huawei
บริษัทเทคโนโลยีสื่อสารข้ามชาติจากประเทศจีน ผู้ครองบัลลังก์ยอดขายสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ในขณะนี้ แม้ว่าในงานด้านโทรคมนาคมจะเป็นคู่แข่งทางตรงของโนเกียเพราะราคาถูกกว่าอุปกรณ์แม่ข่ายของโนเกีย แต่ความยิ่งใหญ่ยังต้องชะงักแน่ๆเพราะหากสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยจะโกอินเตอร์ไปขายในโซนอเมริกาและยุโรปต้องยึดโยงกับสิทธิบัตรของโนเกียก่อนครับ โดยสัญญาการเซ็นใบอนุญาติครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 17 ธันวาคม 2560 ซึ่งในรายงานนั้นระบุตัวเลขว่า Huawei ต้องจ่ายเงินให้ Nokia ราว 100 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยราว 3.6 พันล้านบาท
โดยทางหัวเว่ยจะได้เทคโนโลยีเพื่อไปพัฒนามือถือรุ่นใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ปรับปรุงการรับสัญญาณ และสิทธิบัตรบางฉบับนั้นจะช่วยลดการใช้ฮาร์ดแวร์บางอย่างในมือถือด้วย ทำให้การโกอินเตอร์ไม่เป็นอุปสรรคในประเทศที่การบังคับใช้สิทธิบัตรของโนเกียยังมีผลอยู่ครับ
HTC
ในปี 2554 - 2556 ข่าวการฟ้องร้องของโนเกียและเอ็ชทีซีจากไต้หวันเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อ Nokia ฟ้องร้อง HTC ละเมิดสิทธิบัตรรวม 9 รายการ ซึ่งล้วนมีเทคโนโลยีสำคัญอย่างการจัดวางองค์ประกอบภายในของสมาร์ทโฟนแบบใช้ชิ้นส่วนภายนอกแบบชิ้นเดียว (Unibody) ไปจนถึงการใช้งานไมโครโฟนและการเข้ารหัส VP8 และคำสั่งการเลือกไดร์เวอร์ที่เหมาะสมสำหรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ด้วย USB กับคอมพิวเตอร์ สิทธิบัตรหมายเลข EP 1246071 และบางข้อกล่าวหายังมีการโยนความผิดไปทาง Qualcomm ให้มามีเอี่ยวด้วยครับ
Nokia ให้ความเห็นเกี่ยวกับยื่นฟ้องว่า "ที่ผ่านมา Nokia ได้พยายามหยุดยั้ง HTC ในเรื่องการใช้งานสิทธิบัตรที่ไม่ถูกต้องมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2555 โดยนอกจากจะไม่หยุดพฤติกรรมเดิมๆ แล้ว ยังโยนความผิดไปให้แก่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นอีกด้วย"
ด้วยเหตุนี้ Nokia จึงต้องดำเนินการขั้นถัดไปเพื่อให้ HTC ได้รับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้น และในปี 2556 ศาลประจำเมืองมิวนิค (Munich) ในเยอรมัน ตัดสินให้ Nokia เป็นผู้ได้รับชัยชนะในการฟ้องร้อง โดยแนะนำทางแก้ไขให้ HTC ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรจาก Nokia หรือเจรจายินยอมเข้าใช้งานสิทธิบัตรดังกล่าวอย่างถูกต้อง
ต่อด้วยการลงนามด้านสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีของ Nokia และ HTC ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ... ยุติสงครามทางกฎหมายที่ต่อเนื่องมายาวนานแต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆจนทุกวันนี้ครับ
(คลิกที่นี่) อ่านข่าวต่อ : Nokia และ HTC ปิดตำนานการฟ้องร้อง
Xiaomi
ยักษ์ใหญ่จากเมืองจีน "Xiaomi" ก็ได้ลงนามทำข้อตกลงทางธุรกิจและสิทธิบัตรกับโนเกีย โดยที่ Nokia จะคุ้มครองการใช้งานสิทธิบัตรด้านเซลลูลาร์และระบบการรับส่งสัญญาณสมาร์ทโฟนให้ และยังมีการแลกเปลี่ยนการทำงานกันในด้าน IoT ของ Xiaomi
ตามข้อตกลง Nokia จะเป็นผู้จัดเตรียมอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานระบบเครือข่ายให้กับ Xiaomi ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับทางผู้พัฒนาสัญชาติจีน ในด้านประสิทธิภาพและมีระบบการใช้พลังงานต่ำ โดยที่ทั้งสองบริษัทจะทำงานร่วมกันด้านโซลูชั่นการเชื่อมต่อออปติตอลในดาต้าเซ็นเซอร์และโซลูชั่นด้านศูนย์ข้อมูล อีกทั้งยังมีโอกาสที่ทั้งสองบริษัทจะทำงานร่วมกันในด้าน Internet of Things ต่อไปในอนาคต
การลงนามด้านสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีของ Nokia และ Xiaomi จัดขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 โดยทาง Xiaomi จะได้ใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรที่หลากหลายของ Nokia หากมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังยุโรปซึ่งปัจจุบัน Xiaomi ขายของอยู่ใน 30 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียครับ
(คลิ๊กที่นี่) อ่านข่าวต่อ : Nokia และ Xiaomi ลงนามทางธุรกิจและสิทธิบัตรร่วมกัน
Oppo
แบรนด์มือถือจากเมืองจีนอย่าง OPPO ที่ทำยอดขายได้ดีและเป็นที่รู้จักอย่างดีในบ้านเราก็เป็นอีกรายที่เข้ามาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับโนเกีย โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดมากนักและย้ำว่าข้อตกลงระหว่างสองบริษัทถือเป็นความลับที่ห้ามเปิดเผย
ทั้งคู่จรดปากกาลงนามในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ในข่าวประกาศจาก Nokia อย่างเป็นทางการระบุว่า OPPO จะเงินให้กับทาง Nokia เพื่อเซ็นต์สัญญาใช้สิทธิบัตรเป็นเวลาหลายปี ซึ่งไม่ได้ระบุระยะเวลาที่เช่ายืมแต่คาดว่าน่าจะ 5 ปีเหมือนกับพันธมิตรรายอื่นๆ แน่นอนว่างานนี้จะทำให้ OPPO ได้รับความราบรื่นจากสิทธิบัตรของโนเกียในการบุกตลาดฝั่งยุโรป - อเมริกา หรือประเทศที่สิทธิบัตรของโนเกียยังได้รับการคุ้มครองอยู่นั่นเองครับ
(คลิ๊กที่นี่) อ่านข่าวต่อ : Nokia และ Oppo ลงนามทางธุรกิจและสิทธิบัตรร่วมกัน
LG
อีกหนึ่งยักษ์จากแดนโสม "แอลจี" เริ่มทำสัญญาข้อตกลงขอใช้สิทธิบัตรเทคโนโลยีด้านระบบสัญญาณ 2G, 3G และ 4G ของโนเกีย ซึ่งทำให้แอลจีมีสิทธิ์ในการใช้สิทธิบัตรโนเกียกว่า 60 ฉบับ
ในเรื่องนี้มีแถลงการณ์จากผู้บริหารของ Nokia เห็นว่าการทำข้อตกลงในครั้งนี้เป็นสัญญาณของความร่วมมือที่ดีระหว่างสองบริษัท เพราะต่างได้รับประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายและการทำสัญญาข้อตกลงนี้ยังเป็นภาระกิจแรกที่โนเกียเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้สิทธิบัตร หลังจากได้การขายธุรกิจสมาร์ทโฟน Lumia ให้กับ Microsoft ซึ่งหลายคนคิดว่าโนเกียโดนปลอกลอกสิทธิบัตรไปจนเหลือแต่ชื่อ ... แต่มันไม่ใช่ครับเพราะธุรกิจมือถือที่ขายไปกับงานสิทธิบัตรนั้นแยกจากกันอย่างเด็ดขาด
ข้อตกลงนี้ถูกลงนามในวันที่ 16 มิถุนายน 2558 รายละเอียดทั้งหมดถูกปิดเป็นความลับระหว่างสองบริษัทครับ งานนี้เลยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบอกคนทุกคนว่า Nokia พร้อมสิทธิบัตรยังอยู่นะ ... เก็บเงินเหมือนเดิมด้วย
(คลิ๊กที่นี่) อ่านข่าวต่อ : Nokia และ LG ลงนามทางธุรกิจและสิทธิบัตรร่วมกัน
Qualcomm
ทางโนเกียได้มีการจับมือกับ Qualcomm ตั้งแต่ราวปี 2556 ในการพัฒนาให้คลื่นและชิปประมวลผลให้รองรับ 5G โดยมีการทดสอบคลื่นระบบ NR (New Radio) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ผลคืออุปกรณ์ที่ใช้ชิปของ Qualcomm รองรับและทำงานบนระบบสัญญาณของโนเกียอย่างสมบูรณ์และหลายค่ายต่างแย่งกันใช้ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 855 ที่รองรับ 5G ได้นั่นเองครับ
โดยกระบวนการที่โนเกียจะทำ 5G จนเสร็จจะเริ่มตั้งแต่ปี 2563 เพราะทางรัฐบาลญี่ปุ่นในความร่วมมือของ DoCoMo ผู้ให้บริการรายใหญ่จะใช้คลื่นของโนเกียถ่ายทอดสดการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิค "TOKYO 2020" ซึ่งเป็นงานที่โนเกียจะเปิดตัวและสถาปนาคลื่นระบบใหม่อย่างยิ่งใหญ่ด้วย
----------------------------------------------
จากทั้งหมดที่ "บ้านคนรักโนเกีย" รวบรวมมาให้ถือว่าเป็นความรู้นะครับไม่มีเจตนาไม่ดีกับแบรนด์ใด เพื่อให้สาวกหลายค่ายและโนเกียเองได้รู้ว่าที่ตีกันอยู่นั้นอาจะเป็นแค่มุมมองของแฟนคลับ เพราะในทางธุรกิจแล้วทุกค่ายเขาต่างทำงานร่วมกันครับ ทั้งหมดก็เพื่อเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทันสมัย โดยผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดคงหนีไม่พ้นผู้บริโภคอย่างเราๆที่ได้รับสิ่งที่ทุกบริษัทต่างตั้งอกตั้งใจทำออกมาให้เรานั่นเองครับ
เรียบเรียง : บ้านคนรักโนเกีย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น